ขับรถในหน้าฝนอย่างไร ให้ปลอดภัย
เลขาสพฉ.เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุจราจรช่วงหน้าฝน เผยสถิติปีที่ผ่านมาช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุกว่าแสนครั้ง หรือร้อยละ 38.88 ของอุบัติเหตุช่วงสภาพอากาศปกติพร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากประสบเหตุ
เลขาสพฉ.เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุจราจรช่วงหน้าฝน เผยสถิติปีที่ผ่านมาช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุกว่าแสนครั้ง หรือร้อยละ 38.88 ของอุบัติเหตุช่วงสภาพอากาศปกติ พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากประสบเหตุ
เดือนมิถุนายนเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนและในหลายพื้นที่ก็ได้มีฝนตกชุกกันบางแล้ว และสภาวะเช่นนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากกว่าปกติ เนื่องจากภาวะถนนลื่น ทัศนวิสัยไม่ดี ประกอบกับสภาพของรถยนต์ที่ไม่ได้รับการตรวจเช็คให้เตรียมพร้อมสำหรับรับหน้าฝน
ซึ่งจากสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ในช่วงเดือนมิถุยายนถึงเดือนตุลาคมในปีที่ผ่านมาได้ออกปฏิบัติช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินในเหตุการณ์อุบัติเหตุจราจรทั้งหมด 119,825 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 38.88 ของการออกช่วยเหลือจากอุบัติเหตุการจราจรทั้งหมดตลอดทั้งปีของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงฤดูฝนผู้ขับขี่จึงควรเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุให้ดี
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดในหน้าฝนมักจะเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงและสร้างความสูญเสียให้กับผู้ประสบเหตุ โดยส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก กระดูกหัก หรือเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในช่วงหน้าฝนผู้ขับขี่รถยนต์จึงควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษโดยต้องเตรียมสภาพรถของตนเองให้พร้อมและตรวจสอบระบบสัญญาณไฟให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ตรวจสอบอุปกรณ์ใบปัดน้ำฝนให้สามารถทำความสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากเบรกรถแล้วรถมีอาการปัดควรเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ ส่วนการขับขี่รถในช่วงฝนตกสามารถดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของตนเองได้ดังนี้ ให้สังเกตความแรงของฝนและเปิดใบปัดน้ำฝนให้เหมาะสมกับความแรงของฝนที่ตก ควรเปิดไฟในขณะขับขี่รถและไม่ขับรถกระชั้นชิดคันหน้าเพื่อให้สามารถเบรกรถได้ทันหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะเมื่อฝนตกจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเบรกลดลง
นอกจากนี้แล้วหากพบเห็นอุบัติเหตุหรือประสบอุบัติเหตุควรรีบโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ และผู้ประสบเหตุไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยตนเองควรรอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาให้การช่วยเหลือในการเคลื่อนย้ายเพราะหากช่วยเหลือผิดวิธีจะทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายมากขึ้น ส่วนกรณีที่ผู้ประสบอุบัติเหตุมีบาดแผลที่เสียเลือดอย่างรุนแรงจะต้องทำการปฐมพยาบาลด้วยการห้ามเลือด โดยใช้ผ้าที่สะอาด มาปิดบริเวณบาดแผลและกดห้ามเลือดไว้ ทั้งนี้หากท่านเป็นผู้ประสบเหตุและยังช่วยเหลือตนเองได้ควรตั้งสติ สงบสติอารมณ์และประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุและพิจารณาว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บกี่คน มีรถยนต์ที่ประสบเหตุกี่คัน รวมถึงระบุสถานที่เกิดเหตุให้ชัดเจน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น